วันพุธที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

บุคคลที่เกี่ยวกับผ้าไหมไทยบ้านครัวเหนือ

จิม ทอมป์สัน



จิม ทอมป์สัน หรือชื่อเต็ม เจมส์ แฮร์ริสัน วิลสัน ทอมป์สัน (James Harrison Wilson Thompson) เกิด วันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1906 ( พ.ศ. 2449) -อยู่ถึงค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510) เป็นนักธุรกิจชาวอเมริกัน ที่มีชื่อเสียงจากการทำธุรกิจผ้าไหมในประเทศไทย และก่อตั้งบริษัท จิม ทอมป์สันขึ้น 

ในปี ค.ศ. 1946 จิมปลดประจำการจากกองทัพ แต่เขายังคงใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย โดยวางโครงการที่จะทำอาชีพใหม่ ขณะเดียวกันก็ได้ทำงานปรับปรุงโรงแรมโอเรียลเต็ลที่มีชื่อเสียงที่สุดของกรุงเทพฯ ในสมัยนั้น ระหว่างอาศัยในเมืองไทย จิมได้เดินทางไปหลายที่ในภาคอีสาน และมีความสนใจอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไหมในครัวเรือน ซึ่งในเวลานั้นการทอผ้าไหมซบเซาไปมาก เนื่องจากเป็นภาวะหลังสงคราม ขณะเดียวกันการทอผ้าด้วยเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนถูกกว่า และผลิตได้มากกว่า เริ่มเป็นที่นิยมกันทั่วไป กล่าวกันว่าในเวลานั้นมีช่างทอผ้าเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ยังคงปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ย้อมด้าย ทอผ้าใต้ถุนบ้าน
เมื่อจิมได้เห็นคุณภาพของผ้าไหมทอมือเหล่านี้ก็รู้สึกตื่นเต้นและสนใจอย่างยิ่ง ด้วยเป็นผ้าที่มีความแตกต่างจากผ้าไหมที่ผลิตจากเครื่องจักร ซึ่งแม้ว่ามีความเรียบ สม่ำเสมอกว่า แต่ก็ขาดเอกลักษณ์ของงานฝีมือ เขาจึงวางแผนที่จะฟื้นฟูกิจการทอผ้าไหมของไทย (ซึ่งเคยมีแผนพัฒนาอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 มาก่อนแล้ว) และเชื่อว่าหากมีการจัดการอย่างเหมาะสม ผ้าไหมไทยจะเป็นที่นิยมกว้างขวางขึ้นอย่างแน่นอน
เมื่อกลับมากรุงเทพฯ จิมก็พยายามสืบหาอุตสาหกรรมไหมไทย และรวบรวมตัวอย่างผ้าไหมไทยเท่าที่จะหาได้ ทั้งยังได้ปรึกษามิตรสหาย และเปรียบเทียบกับตัวอย่างในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างนี้เอง ทำให้เขาได้ทราบถึงขั้นตอนการทำงานอันประณีตของช่างทอผ้าชาวไทย



จิม ทอมป์สัน เกี่ยวกับชุมชนบ้านครัวอย่างไร

เมื่อ ค.ศ. 1947 ขณะที่จิมเริ่มเสาะหาผ้า เวลานั้นผ้าไหมไทยเริ่มจะไม่มีเหลือแล้ว ตระกูลช่างทอผ้าต่างเลิกอาชีพดั้งเดิม ทั้งยังกระจัดกระจายไปยังตำบลอื่นๆ เพราะการทอผ้าแบบเดิมมีรายได้น้อยมาก ที่ทำอยู่ก็เป็นเพียงนอกเวลางานหลักเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังมีชุมชนทอผ้าแห่งหนึ่งหลงเหลืออยู่ในพระนคร นั่นคือ ชุมชนบ้านครัว ริมคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิม ท่ามกลางวัฒนธรรมพุทธศาสนาที่รายรอบ ทว่าก็ไม่ได้ทอผ้ากันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
จิมเริ่มไปสำรวจที่บ้านครัว และทำความรู้จักสนิทสนมกับช่างทอที่นั่น ทั้งยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการทอผ้าไปด้วย ในภายหลังจิมได้ทราบว่าผู้คนที่นั่นเป็นแขกจาม ที่อพยพมากรุงเทพฯ เมื่อครั้งไทยรบกัมพูชา เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา จิมได้ปรึกษาเจมส์ สกอตต์ ทูตพาณิชย์สหรัฐประจำประเทศไทย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งในดามัสคัสมาก่อน ทั้งสองตกลงที่จะผลักดันการผลิตผ้าตกไหมแบบซีเรีย และไม่ช้าก็พัฒนาเป็นสิ่งค้าส่งออกได้อย่างดี
หลังจากนั้นจิมได้นำตัวอย่างผ้าไหมแบบดั้งเดิมไปเผยแพร่ในสหรัฐอเมริกา เขาเข้าหา แฟรงก์ คราวนินชีลด์ (Frank Crowninshield) บรรณาธิการของนิตยสาร Vanity Fair ซึ่งสนิทสนมกันมาก่อน และเป็นผู้ที่จิมคิดว่าน่าจะสามารถเชื่อมความสัมพันธ์กับวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นได้ จากนั้นเขาได้รู้จักกับเอ็ดนา วูลแมน เชส (Edna Woolman Chase) ซึ่งภายหลังเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Vogue ซึ่งเมื่อเชสได้เห็นผ้าไหมของช่างทอบ้านครัวก็รู้สึกชอบใจทันที อีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เสื้อผ้าไหมที่ออกแบบโดยวาเลนทินา (Valentina) นักออกแบบเสื้อผ้าผู้มีชื่อเสียงของนิวยอร์กก็ได้ปรากฏโฉมในนิตยสาร Vogue อย่างสง่างาม
หลังจากนั้นจิมได้ก่อตั้งบริษัทขึ้น ในปี ค.ศ. 1948 และส่งเสริมให้ชาวบ้านครัวทอผ้าโดยอิสระ แล้วไปรับซื้อโดยตรง เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และคงคุณภาพไว้อย่างเดิม เขานั่งเรือจากฝั่งตรงข้าม ไปยังชุมชนบ้านครัวทุกวัน เพื่อตรวจสอบผ้า ให้คำแนะนำ และซื้อผ้าทอเหล่านั้น กระทั่งช่างทอที่บ้านครัวมีฐานะดีขึ้น บางคนถึงมีฐานะในระดับเศรษฐี มีเครื่องอำนวยความสะดวกในบ้านครบครันกันถ้วนหน้า (ในเวลานั้น) ในขณะเดียวกัน ธุรกิจผ้าไหมไทยเจ้าอื่นๆ ก็เริ่มสดใส


สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น